หน่วยที่4

หน่วยที่ 4 จิตวิทยาการเรียนการสอน จิตวิทยาสำหรับครู (Psychology for Teacher) ความหมายของจิตวิทยาการเรียนรู้ จิตวิทยา ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Psychology มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ Phyche แปลว่า วิญญาณ กับ Logos แปลว่า การศึกษา ตามรูปศัพท์ จิตวิทยาจึงแปลว่า วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ แต่ในปัจจุบันนี้ จิตวิทยาได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ความหมายของจิตวิทยาได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นั่นคือ จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป้าหมายของการศึกษาจิตวิทยา คือช่วยให้ผู้ศึกษาได้เรียนรู้พฤติกรรมของมนุษย์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ 4 ประการ (Lahey,2002,p.5) คือ 1. เพื่ออธิบายพฤติกรรมของบุคคล 2. เพื่อเข้าใจพฤติกรรมของบุคคล 3. เพื่อทำนายหรือพยากรณ์พฤติกรรมของบุคคล 4. เพื่อควบคุมพฤติกรรมของบุคคล จิตวิทยาการศึกษา จิตวิทยาการศึกษาเป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน ในสภาพการเรียนการสอนหรือในชั้นเรียน เพื่อค้นคิดทฤษฎีและหลักการที่จะนำมาช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ จิตวิทยาการศึกษามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา การสร้างหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคล นักการศึกษาและครูจำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาการศึกษา เพื่อจะได้เข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนเหมือนกับวิศวกรที่จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยทั่วไปแล้ว เนื้อหาของจิตวิทยาการศึกษาที่เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับครูและนักการศึกษาประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้ 1. ความสำคัญของวัตถุประสงค์ของการศึกษาและบทเรียน นักจิตวิทยาการศึกษาได้เน้นความสำคัญของความแจ่มแจ้งของการระบุวัตถุประสงค์ของการศึกษา บทเรียน ตลอดจนถึงหน่วยการเรียน เพราะวัตถุประสงค์จะเป็นตัวกำหนดการจัดการเรียนการสอน 2. ทฤษฎีพัฒนาการ และทฤษฎีบุคลิกภาพ เป็นเรื่องที่นักการศึกษาและครูจะต้องมีความรู้ เพราะ จะช่วยให้เข้าใจเอกลักษณ์ของผู้เรียนในวัยต่างๆ โดยเฉพาะวัยอนุบาล วัยเด็ก และวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่กำลังศึกษาในโรงเรียน 3. ความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่ม นอกจากมีความเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆ แล้ว นักการศึกษาและครูจะต้องเรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มทางด้านระดับเชาวน์ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ เพศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนักจิตวิทยาได้คิดวิธีการวิจัยที่จะช่วยชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นตัวแปรที่สำคัญในการเลือกวิธีสอน และในการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม 4. ทฤษฎีการเรียนรู้ นักจิตวิทยาที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ นอกจากจะสนใจว่าทฤษฎีการเรียนรู้จะช่วยนักเรียนให้เรียนรู้และจดจำอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรแล้ว ยังสนใจองค์ประกอบเกี่ยวกับตัวของ ผู้เรียน เช่น แรงจูงใจว่ามีความสัมพันธ์กับการเรียนรู้อย่างไร ความรู้เหล่านี้ก็มีความสำคัญต่อการเรียนการสอน 5. ทฤษฎีการสอนและเทคโนโลยีทางการศึกษา นักจิตวิทยาการศึกษาได้เป็นผู้นำในการบุกเบิกตั้งทฤษฎีการสอน ซึ่งมีความสำคัญและมีประโยชน์เท่าเทียมกับทฤษฎีการเรียนรู้และพัฒนาการในการช่วยนักการศึกษาและครูเกี่ยวกับการเรียนการสอน สำหรับเทคโนโลยีในการสอนที่จะช่วยครูได้มากก็คือ คอมพิวเตอร์ช่วยการสอน 6. หลักการสอนและวิธีสอน นักจิตวิทยาการศึกษาได้เสนอหลักการสอนและวิธีการสอน ตามทฤษฎีทางจิตวิทยาที่แต่ละท่านยึดถือ เช่น หลักการสอนและวิธีสอนตามทัศนะนักจิตวิทยาพฤติกรรม นิยม ปัญญานิยม และมนุษย์นิยม 7. หลักการวัดผลและประเมินผลการศึกษา ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้จะช่วยให้นักการศึกษา และครูทราบว่า การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือผู้เรียนได้สัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์เฉพาะของ แต่ละวิชาหรือหน่วยเรียนหรือไม่ เพราะถ้าผู้เรียนมีสัมฤทธิผลสูง ก็จะเป็นผลสะท้อนว่าโปรแกรมการศึกษามีประสิทธิภาพ 8. การสร้างบรรยากาศของห้องเรียน เพื่อเอื้อการเรียนรู้และช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพของนักเรียน ความสำคัญของจิตวิทยาการศึกษาต่ออาชีพครู วิชาจิตวิทยาการศึกษาสามารถช่วยครูได้ในเรื่องต่อไปนี้ 1. ช่วยครูให้รู้จักลักษณะนิสัย (Characteristics) ของนักเรียนที่ครูต้องสอน 2. ช่วยให้ครูมีความเข้าใจพัฒนาการทางบุคลิกภาพบางประการของนักเรียน 3. ช่วยครูให้มีความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล 4. ช่วยให้ครูรู้วิธีจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนให้เหมาะสมแก่วัย 5. ช่วยให้ครูทราบถึงตัวแปรต่าง ๆ 6. ช่วยครูในการเตรียมการสอนวางแผนการเรียน 7. ช่วยครูให้ทราบหลักการและทฤษฎีของการเรียนรู้ 8. ช่วยครูให้ทราบถึงหลักการสอนและวิธีการที่มีประสิทธิภาพ 9. ช่วยครูให้ทราบว่านักเรียนที่มีผลการเรียนดี ไม่ได้เป็นเพราะระดับเชาวน์ปัญญาอย่างเดียว 10. ช่วยครูในการปกครองชั้นและการสร้างบรรยากาศของห้องเรียน ประเภทของการจูงใจ นักจิตวิทยาแบ่งการจูงใจเป็น 2 ประเภทดังนี้ 1. การจูงใจภายใน (Intrinsic Motivation) ได้แก่ ความต้องการ ความอยากรู้อยากเห็น ความสนใจ ตลอดจนการที่มีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นแรงจูงใจที่เกิดจากตัวบุคคลโดยตรง 2. การจูงใจภายนอก (Extrinsic Motivation) ได้แก่ แรงที่เกิดจากเครื่องเร้าภายนอกมากระตุ้น ทำให้บุคคลเกิดพฤติกรรมต่างๆ แรงจูงใจกับการเรียนการสอน ในการเรียนการสอนนั้น สิ่งสำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ ส่งเสริมให้เด็กเกิดมีแรงจูงใจขึ้น ถ้าสามารถทำได้ควรส่งเสริมให้เด็กเกิดแรงจูงใจภายใน แต่แรงจูงใจภายในนั้นปลูกฝังได้ยาก ครูทั่วไปจึงมักใช้แรงจูงใจภายนอกเข้าช่วย แรงจูงใจภายนอกที่ครูใช้อยู่เป็นประจำ มีดังนี้ 1 รางวัล การให้รางวัลมีหลายอย่าง เช่น ให้รางวัลเป็นของ การให้เครื่องหมายอันเป็นสัญลักษณ์แห่งความดี เช่น ให้ดาว หรือให้เกียรติบางอย่าง หรือให้สิทธิพิเศษบางอย่าง 2. ความสำเร็จในการเรียน การที่เด็กได้รับความรู้และทักษะเพิ่มขึ้นจากการเรียน ก็เป็นแรงจูงใจให้เด็กเรียนดีขึ้นกว่าเดิม 3. การยกย่องชมเชย คำชมที่เหมาะกับโอกาสและเหมาะสมกับการกระทำของนักเรียนย่อมเป็นแรง จูงใจให้แก่เด็กเป็นอย่างดี 4. การตำหนิ ถ้าครูใช้การตำหนิแต่เพียงเล็กน้อยไม่พร่ำเพรื่อเกินไปแล้ว การตำหนิก็มีผล ในการ สร้างแรงจูงในในการเรียนได้มากเหมือนกัน 5. การแข่งขัน การแข่งขันในการเรียน ถ้าเป็นไปในทำนองเป็นมิตรก็เป็นการจูงใจในการเรียนที่ดีอย่างหนึ่ง ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กแข่งขันหลายๆ ทาง การแข่งขัน นักจิตวิทยาแบ่งออกเป็น 3 วิธีคือ 5.1 แข่งขันระหว่างนักเรียนทั้งหมด 5.2 แข่งขันระหว่าง หมู่ต่อหมู่ 5.3 แข่งขันกับตนเอง 6 ความช่วยเหลือ ความร่วมมือก็นับเป็นแรงจูงใจในการเรียนที่ดีอย่างหนึ่ง ตามปกติเด็กย่อมมีความต้องการฐานะทางสังคม และความต้องการความรักอยู่แล้ว 7. การรู้จักความก้าวหน้าของตน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับความสำเร็จ แต่การที่เด็กจะทราบถึงความก้าวหน้าของคนนั้นต้องอาศัยการบอกกล่าวของครู 8. การรู้จักวัตถุประสงค์ของการเรียน การทราบวัตถุประสงค์ของการเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะทำให้เด็กเข้าใจแนวการเรียนได้ดีขึ้น สุขภาพจิต สุขภาพจิต หมายถึงคุณลักษณะทางจิตใจของบุคคลที่จะปรับตัวให้มีความสุขอยู่กับสังคมได้ดีพอสมควร และสามารถจะสนองความต้องการของตนเองในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและ สิ่งแวดล้อมอื่นโดยไม่มีข้อขัดแย้งภายในจิตใจมากนัก คนที่สุขภาพจิตดี จะสามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ในระดับที่เหมาะสม สามารถลดความวิตกกังวล อันเนื่องมาจากการแก้ปัญหาหรือเนื่องมาจากความขัดแย้งด้วยวิธีการที่สมเหตุสมผลและไม่ใช้ กลวิธานป้องกันตนเองอย่างใดอย่างหนึ่งนานๆ หรือรุนแรงจนเกินไป ลักษณะของผู้ที่มีสุขภาพจิตดี ผู้ที่มีสุขภาพจิตดีนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้ 1. เป็นผู้ที่รู้จักและเข้าใจตนเองอย่างดี ซึ่งจะแสดงออกในรูปของ - ยอมรับความผิดหวังได้อย่างกล้าหาญ - ใจกว้างพอที่จะยอมรับและเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น - ประมาณความสามารถของตนเองได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง - ยอมรับสภาพความขาดแคลนหรือขีดจำกัดบางอย่างของตนได้ และยอมรับนับถือตนเอง - สามารถจัดการกับสภาพการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนได้ - พอใจและชื่นชมยินดีต่อความสุขหรือความสำเร็จของตนที่เกิดในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม 2. เป็นผู้ที่รู้จักเข้าใจผู้อื่นได้ดี ซึ่งแสดงออกในรูปของ - ให้ความสนใจและรักคนอื่นเป็นและยอมรับความสนใจและความรักใคร่ที่คนอื่นมีต่อตน - เข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล - เป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี - เป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ - มีความรับผิดชอบต่อหมู่คณะหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวโยง 3. เป็นผู้ที่สามารถเผชิญกับความจริงในชีวิตได้เป็นอย่างดี เช่น - แก้ปัญหาและเผชิญกับอุปสรรคได้ด้วยตัวเอง โดยไม่หวาดกลัวมากนัก - มีการวางแผนล่วงหน้าในการกระทำงานหรือการปฏิบัติงานต่าง ๆ - ตั้งจุดมุ่งหมายของชีวิตไว้สอดคล้องกับความจริง - ตัดสินใจในปัญหาต่างๆ ได้อย่างฉลาด ฉับพลัน ปกติ ปราศจากการลังเลหรือเสียใจ ภายหลัง - สามารถใช้พลังงานที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 4. ไม่ใช้กลวิธานป้องกันตนเอง แบบใดแบบหนึ่งมากเกิน แต่จะยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นและพยายามหาวิธีลดความวิตกกังวลลงด้วยวิธีการที่สมเหตุสมผล 5. เป็นผู้มีอารมณ์ขันบ้าง พยายามมองโลกในแง่ดีด้วยการพิจารณาข้อดีของเหตุการณ์ต่างๆ หรือการกระทำต่างๆ ของเรา เพราะเหตุการณ์หรือการกระทำบางอย่างนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และการใช้อารมณ์ขันช่วยขัดจังหวะหรือช่วยแก้ไขเหตุการณ์ที่ตึงเครียด จะทำให้มองโลกน่ารื่นรมย์ขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น